ปราสาทเมืองที

ปราสาทเมืองที

อยู่ในบริเวณวัดจอมสุทธาวาส ใกล้กับซุ้มประตูทางเข้าและอุโบสถของวัด ลักษณะพื้นที่ตั้งของวัดและตัวปราสาทเป้นเนินดินสูงกว่าพื้นที่โดยรอบเล็กน้อย ทางด้านทิศตะวันออกติดกับถนนถัดไปเป็นทุ่งนา

ประวัติความเป็นมา

พงศาวดารอีสานได้กล่าวถึงบ้านเมืองทีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ว่าเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวกูย (กวย) มีหัวหน้าปกครองชื่อ เชียงปุม กระทั่งราวปี พ.ศ.2302 ในสมัยพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้มีช้างเผือกแตกโรงออกจากกรุงศรีอยุธยา เชียงปุมจึงได้ร่วมกับผู้นำหมู่บ้านอื่น ๆ ติดตามช้างเผือกส่งคืนกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ เชียงปุมจึงได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงสุรินทร์ภักดี ต่อมาได้ย้ายชุมชนจากบ้านเมืองที มาอยู่ที่คูประทายสมัน (เมืองสุรินทร์) และได้สร้างความดีความชอบต่อมาจนได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวางเจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

ปราสาทเมืองที เดิมน่าจะประกอบด้วยปราสาทก่ออิฐฉาบปูน จำนวน 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานอิฐเดียวกัน ปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยปราสาทบริวารที่มุมทั้งสี่ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3 องค์ คือ ปราสาทประธาน ปราสาทบริวารองค์ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ปราสาทประธาน ก่ออิฐฉาบปูน มีขนาดใหญ่กว่าปราสาทบริวาร แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ขนาด 2.70 X 2.70 เมตร ส่วนเรือนธาตุทึบตัน ด้านล่างมีร่องรอยการก่ออิฐ น่าจะแทนฐานหรือซุ้มจรนำประกบเข้าที่ด้านทั้งสี่ของตัวปราสาท ทำให้มีลักษณะแผนผังเป็นรูปกากบาท ส่วนหลังคาทำซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป 4 ชั้น มีรูปทรงผอมเพรียวแตกต่างไปจากปราสาทขอมโดยทั่วไป

ปราสาทบริวารองค์ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก่ออิฐฉาบปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีรูปทรงผอมเพรียวเช่นเดียวกันกับปราสาทประธาน แต่มีขนาดย่อมกว่า ส่วนหลังคาทำในลักษณะเรือนธาตุซ้อนลดหลั่นขึ้นไป 2 ชั้นจนถึงส่วนยอดซึ่งหักพัง

ปราสาทบริวารองค์ทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทบริวารองค์ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่มีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์กว่าคือ มีส่วนยอดลักษณะเป็นบัวเหลี่ยมย่อมุม

ความสำคัญของแหล่งทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

ปราสาทเมืองที เป็นปราสาทที่มีรูปร่างค่อนข้างสูงเพรียว แตกต่างไปจากปราสาทขอมโดยทั่วไป จากหลักฐานที่ปรากฏทำให้สันนิษฐานได้เป็น 2 ประการคือ ประการแรกอาจเคยเป็นที่ตั้งปราสาทขอมมาก่อน แล้วมีการมาซ่อมแซมปรับเปลี่ยนรูปทรงภายหลังในสมัยอยุธยาตอนปลาย-ต้นรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 หรือประการที่สองอาจเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย-ต้นรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 23-24

จากการที่ไม่ปรากฏร่องรอยหลักฐานชิ้นส่วนเครื่องประกอบสถาปัตยกรรมตามแบบปราสาทขอมโดยทั่วไป เช่น ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู บัวกลุ่มยอดปราสาท ชิ้นส่วนศิลาทรายหรือศิลาแลง จึงทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นไปตามประการที่สองมากกว่า อย่างไรก็ตาม ปราสาทเมืองทีก็เป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสอดคล้องกับเอกสารพงศาวดารอีสานที่ได้กล่าวถึงชุมชนชาวกูยตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเมืองที ในราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 ซึ่งตรงกับช่วงที่วัฒนธรรมแบบล้านช้างแพร่หลายอยู่ในภาคอีสาน

ตำแหน่งที่ตั้ง

หมู่ 1 บ้านเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

การเดินทาง

จากตัวเมืองสุรินทร์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 226 (สุรินทร์-ศีขรภูมิ) เมื่อถึงช่วงหลักกิโลเมตรที่ 15-16 หมู่บ้านเมืองที บริเวณตรงข้ามที่ทำการ อบต. ให้เลี้ยวซ้ายตรงไป 300 เมตร จะเห็นปราสาทเมืองทีตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดจอมสุทธาวาส

อ้างอิง : กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์, กรุงเทพฯ: กอง โบราณคดี กรม ศิลปากร, 2538.