ปราสาทจอมพระ

ปราสาทจอมพระ

ตั้งอยู่บริเวณวัดปราสาทจอมพระ ซึ่งเป็นวัดป่า มีต้นไม้ร่มรื่น บริเวณนี้มีแหล่งชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ คือ บ้านจอมพระ ปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย-ต้นประวัติศาสตร์ ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของปราสาทจอมพระมีการสร้างบารายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 แห่ง คือ บารายด้านทิศตะวันออก และบารายด้านทิศตะวันตก

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

ปราสาทจอมพระ เป็นปราสาทขอมประเภทอโรคยศาล ศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วยปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลาง ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีบรรณาลัย ล้อมรอบด้วยกำแพง ซึ่งมีโคปุระอยู่ทางด้านทิศตะวันออก นอกกำแพงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ มีรายละเอียดดังนี้

ปราสาทประธาน ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ขนาดประมาณ 5 เมตร มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก ซึ่งทำเป็นมุมยื่นออกมา บรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันตก (หันหน้าเข้าหาปราสาทประธาน) ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีหน้าต่าง 1 ช่องทางด้านทิศใต้

กำแพงและโคปุระ (ซุ้มประตู) ก่อด้วยศิลาแลง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบโบราณสถาน มีโคปุระอยู่ทางด้านทิศตะวันออก แผนผังเป็นรูปกากบาท ที่ผนังโคปุระด้านทิศใต้มีช่องหน้าต่าง 1 ช่อง

สระน้ำ กรุขอบสระด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่นอกกำแพง ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ

ศิลาจารึก (จารึกสุรินทร์ 2 ) เป็นอักขระขอม ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีสภาพชำรุด แต่เนื้อความที่เหลืออยู่จับความได้ว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างอโรคยศาล เป็นเนื้อหาเดียวกันกับจารึกปราสาทตาเมือนโต๊จ

จากการขุดแต่งโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2530 พบโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ พระโพธิสัตว์-อวโลกิเต ศวร 1 เศียร และพระวัชรสัตว์ 1 องค์ และปี พ.ศ.2552 กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งอีกครั้ง พบหลักฐานที่สำคัญ คือ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปนาคปรก

ความสำคัญของแหล่งทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

พื้นที่บริเวณปราสาทจอมพระมีหลักฐานการอยู่อาศัยมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย-ต้นประวัติศาสตร์ ต่อมาปราสาทจอมพระได้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขอม

ปราสาทจอมพระเป็นอโรคยศาลหรือศาสนสถานประจำโรงพยาบาล เนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตรงกับศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สอดคล้องกับจารึกปราสาทตาพรหม

อ้างอิง : กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์, กรุงเทพฯ: กอง โบราณคดี กรม ศิลปากร, 2538.