ปราสาททนง
ปราสาททนง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
ปราสาททนง ประกอบด้วย โบราณสถาน 2 กลุ่ม ตั้งอยู่ใกล้ๆกัน เรียงกันในแนว ทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก มีรายละเอียดดังนี้
พลับพลา ตั้งอยู่ด้านหน้า สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูป กำแพงหนาล้อมพื้นที่ว่างไว้ตรงกลาง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด23*31 เมตร มีบันไดทางขึ้น-ลงทุกทิศทาง กลุ่มปราสาทประธาน ก่อด้วยศิลาแลง ประกอบด้วยปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง ด้านหน้ามีร่องรอยหลุมเสา เยื้องไปทางด้านหน้ามีบรรณาลัย 2 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงที่มีโคปุระ (ซุ้มประตู) ก่อด้วยอิฐอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก นอกจากนี้ยังพบทับหลังศิลาทราย สลักเป็นรูปบุคคลนั่งชันเข่าเหนือหน้ากาลและรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศิลปะขอมแบบบาปวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ
กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งบูรณะปราสาททนง เมื่อปี พ.ศ.2536 พบหลักฐานที่สำคัญ ได้แก่ร่องรอยของเตาถลุงเหล็กที่มีตะกรัน ( ขี้แร่ ) เหล็กจำนวนมาก และโครงกระดูกมนุษย์ ซึ่งหันศีรษะไปทางทิศใต้ มีสิ่งของที่ฝังร่วมกับศพ ได้แก่ ภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว แหวนสำริด และขวานเหล็ก กำหนดอายุอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายยุคเหล็ก อายุราว 1,500-2,500 ปีมาแล้ว
ความสำคัญของแหล่งทางประวัติศาสตร์โบราณคดี
พื้นที่บริเวณปราสาททนง มีหลักฐานการอยู่อาศัยมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ต่อมาปราสาททนงได้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขอมโบราณ ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 มีการสร้างปราสาทเป็นศาสนสถานประจำชุมชน ปราสาททนงจึงเป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงอิทธิพลวัฒนธรรมขอมที่ปรากฏขึ้นในดินแดนแถบนี้
ตำแหน่งที่ตั้ง
หมู่ 2 บ้านปราสาททนง ตำบลปราสาททนง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
การเดินทาง
จากตัวเมืองสุรินทร์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 214 (สุรินทร์-ปราสาท) ก่อนถึงตัวอำเภอปราสาท ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 28 ให้เลี้ยวขวาที่วัดสุวรรณวิจิตร ตรงไปตามทาง สร.3011 เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ซึ่งมีป้ายบอกทางเป็นระยะ ทางด้านซ้ายมือจะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านปราสาท และถัดไปเป็นที่ตั้งของปราสาททนง
อ้างอิง : กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์, กรุงเทพฯ: กอง โบราณคดี กรม ศิลปากร, 2538.