ปราสาทบ้านเฉนียง

ปราสาทบ้านเฉนียง

ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดปราสาทศิลาราม ซึ่งได้มีการสร้างอุโบสถทับอยู่บนฐานและกำแพงของปราสาท พื้นฐานรอบๆ ได้รับการตกแต่งเป็นสวนหย่อม ถัดออกไปเป็นเสนาสนะและอาคารต่างๆ ของทางวัด ทิศตะวันออกเป็นอ่างเก็บน้ำโครงการชลประทานห้วยเสนง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

ปราสาทบ้านเฉนียง เป็นปราสาทขอมประเภทอโรคยศาล ศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธทศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วยปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลาง ซึ่งปัจจุบันมีอุโบสถสร้างทับ มีกำแพงล้อมรอบและมีโคปุระอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ภายนอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ มีรายละเอียดดังนี้

ปราสาทประธาน ก่อด้วยศิลาแลง ปัจจุบันมีอุโบสถสมัยปัจจุบันสร้างทับอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถศึกษาลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปราสาทประธานรวมถึงบรรณาลัย (ซึ่งโดยปกติมักตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน) ได้

กำแพงและโคปุระ (ซุ้มประตู) ก่อด้วยศิลาแลง กำแพงมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบ มีโคปุระอยู่ทางด้านทิศตะวันออก และอุโบสถที่สร้างทับก็มีขนาดเท่ากับกำแพงนี้ สระน้ำ กรุขอบสระด้วยศิลาแลง แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  15 x 29 เมตร ตั้งอยู่นอกกำแพงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ

พบฐานประติมากรรมรูปเคารพศิลาทรายและชิ้นส่วนเครื่องประกอบสถาปัตยกรรม ศิลาทราย ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งจัดเป็นสวนหย่อมใกล้ๆ กับตัวปราสาท

ความสำคัญของแหล่งทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

ปราสาทบ้านเฉนียงเป็นอโรคยศาลหรือศาสนสถานประจำโรงพยาบาลเนื้องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตรงกับศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สอดคล้องกับจารึกปราสาทตาพรหม (พ.ศ. 1729 ) ที่กล่าวถึงการสร้างอโรคยศาลจำนวน 102 แห่ง กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักรขอมในสมัยนั้น ปราสาทบ้าน   เฉนียงจึงเป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงอิทธิพลวัฒนธรรมขอมที่ปรากฏขึ้นในดินแดนแถบนี้ในราวพุทธศตวรรษที่ 18

ปราสาทบ้านแฉนียงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้ว ปัจจุบันได้มีการสร้างอุโบสถซ้อนทับปราสาทเฉนียง ทำให้ไม่เห็นลักษณะของปราสาทประธาน เหลือเพียงร่อยรอยที่ยังปรากฏอยู่ คือ สระน้ำ กำแพง และโคปุระบางส่วน

ตำแหน่งที่ตั้ง

หมู่ 4 บ้านปราสาท ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

 

การเดินทาง

จากตัวเมืองสุรินทร์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 214 (สุรินทร์-ปราสาท) เมื่อถึงช่วงหลักกิโลที่ 8 จะเป็นสี่แยก ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายบ้านเฉนียง-บ้านทมอ เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร จะเห็นสามแยก ให้เลี้ยวขวาตรงไป 1.6 กิโลเมตร จะพบป้ายทางเข้าวัดปราสาทศิลาราม ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปอีก 600 เมตร จะเป็นที่ตั้งของวัดปราสาทศิลาราม และปราสาทบ้านเฉนียงอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัด

อ้างอิง : กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์, กรุงเทพฯ: กอง โบราณคดี กรม ศิลปากร, 2538.