ปราสาทนางบัวตูม

ปราสาทนางบัวตูม

ตำนานปราสาทนางบัวตูมเล่าว่า มีฤาษีตนหนึ่งได้ไปเก็บดอกบัว บังเอิญพบทารกอยู่ในดอกบัว จึงได้นำมาเลี้ยงให้ชื่อว่า บัวตูม เมื่อเจริญวัยขึ้นนางบัวตูมได้เก็บดอกลำดวนมาเสี่ยงทายหาคู่ ปรากฏว่าท้าวโสวัฒน์เจ้าเมืองพิมายได้พบดอกลำดวนและติดตามมาจนพบรักกับนางบัวตูม แล้วทั้งสองก็กราบลาฤาษีเพื่อกลับไปอยู่ที่เมืองพิมาย ระหว่างทางมีอุปสรรคมากมาย ทำให้ท้าวโสวัฒน์และนางบัวตูมต้องเสียชีวิตและพลัดพรากจากโอรสซึ่งคลิดระหว่างทางในที่สุดฤาษีได้ตอดตามมาชุบชีวิต และนำพาพ่อแม่ลูก ให้ได้มาอยู่พร้อมหน้ากันที่ปราสาทนางบัวตูม

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

ปราสาทนางบัวตูม ประกอบด้วยปราสาทศิลาแลง 3 หลัง ตั้งเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ฐานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออก 1 แห่ง มีรายละเอียดดังนี้

ปราสาทหลังกลาง ก่อด้วยศิลาแลง มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก มีเสากรอบประตู และเสาประดับกรอบประตูสลักลวดลาย และมีประตูหลอกอีก 3 ด้าน ทำด้วยศิลาทราย มีเสาประดับกรอบประตูไม้สลักลวดลาย พื้นธรณีประตูมีลายสลักรูปดอกบัวอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส

ปราสาทหนังเหนือ ก่อด้วยศิลาแลง และมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับปราสาทหลังกลาง

ปราสาทหลังใต้ ก่อด้วยศิลาแลง และมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับปราสาทหลังกลาง

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ

ทับหลังศิลาทรายจำนวน 3 ชิ้น มีโครงสร้างลวดลายที่เหมือนกันคือ ท่อนพวงมาลัย ออกมาจากกึ่งกลางเบื้องล่าง วกออกมาที่กลางทับหลังแล้วพุ่งออกไปยังที่ปลายทั้งสองเป็นใบไม้ม้วนทั้ง 2 ข้าง เหนือใบไม้ม้วนเป็นใบไม้สามเหลี่ยม ใต้ท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้สามเหลี่ยมตั้งขึ้น ที่กึ่งกลางทับหลังมีภาพสลักเล่าเรื่อง ลักษณะเช่นนี้จึงสามารถกำหนดอายุได้ว่าตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ทับหลังจำนวน 3 ชิ้น ดังกล่าวสามารถตีความได้ดังนี้ ภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ภาพพระกฤษณะปราบช้างกุวัลยปิถะ และภาพพระกฤษณะต่อสู้กับจาณูระ

นอกจากนี้ยังพบแท่นประติมากรรมศิลาทราย เสาประดับกรอบประตูแปดเหลี่ยม

พิจารณาจากลายใบไม้เหนือวงแหวนพบว่า ระหว่างใบไม้สามเหลี่ยมมีลายก้านต่อดอกขนาบอยู่ ซึ่งเป็นแบบที่ปรากฏในราวพุทธศตวรรษที่ 16 และพบศิลาทรายสลักรูปดอกบัวแปดกลีบอยู่ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พบบนพื้นทางเข้าปราสาทหลังกลาง

ความสำคัญของแหล่งทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

ปราสาทนางบัวตูม เป็นปราสาท 3 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เป็นศาสนสถานประจำชุมชน ที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปราสาทนางบัวตูมจึงเป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงอิทธิพลวัฒนธรรมขอมที่ปรากฏขึ้นในดินแดนแถบนี้

ปราสาทนางบัวตูมจัดเป็นปราสาทขนาดเล็กมี 3 หลังตั้งเรียงกัน เหลือเพียงส่วนฐานและส่วนเรือนธาตุ ส่วนยอดพังทลาย และมีร่องรอยหลักฐานต่างๆ ให้ศึกษาดูได้ เช่นทับหลัง เสาประดับกรอบประตู ปัจจุบันปราสาทหลังนี้ยังไม่ได้ทำการบูรณะ แต่สภาพโดยรวมก็ได้รับการดูแลรักษาความสะอาดอยู่สม่ำเสมอ

ตำแหน่งที่ตั้ง

หมู่ 5 บ้านสระถลา ตำบลท่าตูม อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

การเดินทาง

จากตัวเมืองสุรินทร์ ไปตามถนนหมายเลข 214 (สุรินทร์-จอมพระ-ท่าตูม) เมื่อถึงตัวอำเภอท่าตูมให้เลี้ยวขวาตรงเข้าไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร (ซึ่งจะผ่านบ้านตูม บ้านปราสาท และบ้านสระถลา) ทางขวามือจะเป็นที่ตั้งของวัดปทุมศิลาวารีและปราสาทนางบัวตูมอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัด

อ้างอิง : กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์, กรุงเทพฯ: กอง โบราณคดี กรม ศิลปากร, 2538.