ปราสาทพนมสวาย (ปราสาทสนชัย)

ปราสาทพนมสวาย (ปราสาทสนชัย)

ร่องรอยของปราสาทเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยบนไหล่เขาพนมเปร๊าะ (เขาชาย) ซึ่งอยู่บริเวณเขาพนมสวาย เขาพนมสวายเป็นกลุ่มเขาหินปูน ประกอบด้วยเขาขนาดเล็ก 3 ยอด ได้แก่ พนมเปร๊าะ (เขาชาย) บนยอดเขาเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคล พนมเสวย (เขาหญิง) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ และพนมกรอล (เขาคอก) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

ปราสาทพนมสวาย จากคำบอกเล่ากล่าวว่า เดิมประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ตั้งอยู่บนยอดเขาชาย ต่อมาถูกรื้อถอนเพื่อสร้างพระพุทธรูปไว้แทน จึงไม่ปรากฏร่องรอยของปราสาทบนยอดเขา ปัจจุบันเหลือเพียงหลักฐานที่มีความเกี่ยวข้องกันดังนี้

แนวฐานศิลาแลง ที่บริเวณไหล่เขาชายทางด้านทิศเหนือริมถนนเล็กๆ ที่จะตรงเข้าไปยังวัดพนมศิลาราม ได้ปรากฏแนวศิลาแลงก้อนใหญ่เรียงต่อเนื่องกันยาวประมาณ 5 เมตร ลักษณะคล้ายเป็นส่วนหนึ่งของฐานปราสาท ฝั่งตรงข้ามถนนก็ยังมีก้อนศิลาแลงที่ถูกรื้อถอนจากการสร้างถนนตั้งเรียงรายอยู่อีกจำนวนหนึ่ง และพบเศษอิฐอีกเล็กน้อย

สระน้ำ 2 สระ ตั้งอยู่บริเวณใกล้วัดพนมศิลาราม ปัจจุบันทางวัดได้ขุดรวมเป็นสระเดียวกัน

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ

ชาวบ้านเล่าว่า เคยขุดพบพระคเณศศิลาทราย 1 องค์ และบริเวณโดยรอบพนมสวาย ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชาวบ้านได้พบโบราณวัตถุศิลปะขอมจำนวนมาก เช่น ชาม สำริด กระพรวนสำริด ครุฑสำริด ไหเคลือบสีน้ำตาล ฯลฯ

ความสำคัญของแหล่งทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

พื้นที่บริเวณเขาพนมสวาย ปรากฏหลักฐานคือ ปราสาท บาราย และโบราณวัตถุต่างๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนที่มีอายุร่วมสมัยกับวัฒนธรรมขอม ปราสาทพนมสวายจึงเป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงอิทธิพลวัฒนธรรมขอมที่ปรากฏความสำคัญคือ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวสุรินทร์ให้ความเคารพนับถือตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ตำแหน่งที่ตั้ง

บ้านพนม ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

การเดินทาง

จากตัวเมืองสุรินทร์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 214 (สุรินทร์-ปราสาท) เมื่อถึงช่วงหลักกิโลเมตรที่ 15 จะเป็น สามแยก ให้เลี้ยวขวา เป็นระยะทาง 7 กิโลเมตร เมื่อถึงวนอุทยานพนมสวาย จะมีถนนลาดยางเล็กๆ เลียบไหล่เขาไปสู่วัดพนมศิลาราม ปราสาทพนมสวาย

อ้างอิง : กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์, กรุงเทพฯ: กอง โบราณคดี กรม ศิลปากร, 2538.