ปราสาทพระปืด (ปราสาทแก้ว)

ปราสาทพระปืด (ปราสาทแก้ว)

ปราสาทตั้งอยู่บริเวณวัด มีเสนาสนะและอาคารของวัดตั้งอยู่รายรอบ บริเวณนี้เป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาประมาณ 800 x 1,000 เมตร มีคูน้ำ 2 ชั้น คันดิน 3 ชั้น ซึ่งสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ

ประวัติความเป็นมา ตำนาน

ตำนานพระปืด เล่าว่า ชาวส่วย (กูย) คนหนึ่ง อาศัยอยู่ที่จอมพระ วันหนึ่งออกไปหาขุดมันในป่า และได้พลั้งมือทำร้ายกวางตัวหนึ่งซึ่งมีกระดิ่งทองห้อยคอจนบาดเจ็บที่ขาข้างขวา ชาวส่วยนั้นพร้อมกับพวกได้ติดตามรอยเลือดกวางผ่านบ้านแสร์ออ บ้านฉันเพล บ้านเมืองที จนพลัดเข้าไปในปราสาทร้างกลางป่า ในนั้นมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งมีรอยคราบเลือดที่ชงฆ์ข้างขวา ชาวส่วยต่างตกใจร้องขึ้นว่า “พระปืด พระปืด” ซึ่งเป็นภาษาส่วย แปลว่า พระใหญ่ และคำร้องนี้ก็ได้กลายเป็นชื่อของปราสาทและหมู่บ้านมาจนทุกวันนี้

สำหรับชื่อเรียก ปราสาทแก้ว เกิดจากพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ พระปลง ได้มาสร้างวัดและเรียกวัดแห่งนี้ว่า ปราสาทแก้ว ซึ่งสอดคล้องกับปราสาททอง บ้านแสร์ออ ที่ตั้งอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่งใกล้ๆ กัน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

ปราสาทพระปืด ประกอบด้วยปราสาทประธานก่ออิฐสอปูน ตั้งอยู่บนฐานอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งถูกปรับปรุงให้เป็นวิหาร (หรืออุโบสถ) ในสมัยหลัง นอกจากนี้ยังพบซากโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีรายละเอียดดังนี้

ปราสาทประธาน ก่ออิฐสอปูนแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมทางด้านทิศตะวันออกก่อเป็นซุ้ม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนามว่า หลวงพ่อพระปืด ปราสาทประธานตั้งอยู่บนฐาน ชิดเข้าไปทางด้านในหรือทิศตะวันตก ฐานนี้ก่ออิฐแผงผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีศิลาแลงประกอบอยู่ที่ฐานล่าง มีบันไดอยู่ทางด้านหน้า (ทิศตะวันออก) 2 ทาง และมีหลังคาสังกะสีคลุม ผนังทั้งสี่ด้านเป็นไม้ระแนงแนวตั้ง เจ้าอาวาสวัดเล่าว่า บริเวณรอบๆเคยมีศิลาแลงปักอยู่ใช้เป็นพัทธสีมา (ลูกนิมิตร) ปัจจุบันเหลือหลักฐานที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ซากโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน พบใบเสมาศิลาแลงตั้งอยู่บนฐานนี้ ปัจจุบันบนซากโบราณสถานนี้มีการนำปูนซีเมนต์มาโบกทับ แล้วสร้างเป็นรูปปั้น “ท่านเจ้าปู่คฤห์” ตามความเชื่อของท้องถิ่น และสร้างอาคารโถงมีหลังคาคลุมไว้

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ

ปราสาทพระปืด ตั้งอยู่ภายในเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ในปี พ.ศ.2546 ชาวบ้านได้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ ฝังร่วมกับภาชนะดินเผา เครื่องมือเหล็ก และเครื่องสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคเหล็กอายุราว 2,500-1,500 ปีมาแล้ว

ภายในบริเวณเมืองโบราณแห่งนี้ ได้พบเศษภาชนะดินเผาทั้งแบบเนื้อดินธรรมดาสีขาว (แบบทุ่งกุลา) ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง เคลือบสีน้ำตาล (แบบเครื่องถ้วยลพบุรี) เครื่องมือเหล็ก ประติมากรรมสำริด ได้แก่ ประติมากรรมสำริดรูปสตรียืนถือดอกบัวทั้งสองพระหัตถ์ สังข์สำริดปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์

สำหรับโบราณวัตถุที่แสดงถึงชุมชนท้องถิ่นในวัฒนธรรมแบบล้านช้างคือ พระพุทธรูป “พระปืด” ศิลาทรายสีแดง ขัดสมาธิเพชร (พระเศียรปั้นต่อใหม่) และพระพุทธรูป “พระเสี่ยงทาย” ขัดสมาธิราบ พระเศียรทรงเทริด รัศมีรูปกลีบบัวหงาย

ความสำคัญของแหล่งทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

พื้นที่บริเวณปราสาทพระปืดมีหลักฐานการอยู่อาศัยมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ดังปรากฏหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนในวัฒนธรรมขอม มีการสร้างปราสาทพระปืดเป็นปราสาทขอม ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 และต่อมาได้มีการซ่อมแซมดัดแปลงปราสาทขอมให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป สร้างอาคารมีหลังคาคลุม ในสมัยอยุธยาตอนปลาย-ต้นรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 หรือที่มักเรียกกันว่า วัฒนธรรมแบบล้านช้าง จนกระทั่งปัจจุบันทางวัดและชุมชนยังคงใช้ประโยชน์ของปราสาทพระปืดเป็นอุโบสถสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ตำแหน่งที่ตั้ง

บ้านพระปืด ตำบลบ้านแร่ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

การเดินทาง

จากตัวเมืองสุรินทร์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 214 (สุรินทร์-จอมพระ) เมื่อถึงบ้านนาเกา ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 9 ให้เลี้ยวขวาตรงเข้าไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร เมื่อพบแนวคูน้ำคันดินบ้านพระปืด ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไป มีป้ายบอกทางเป็นระยะไปจนถึงวัดปราสาทแก้วและปราสาทพระปืดอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัด

อ้างอิง : กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์, กรุงเทพฯ: กอง โบราณคดี กรม ศิลปากร, 2538.