ปราสาทอังกัญโพธิ์
ปราสาทอังกัญโพธิ์
ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า เดิมเป็นพื้นที่รกร้าง ชาวบ้านเรียกว่า โคกปราสาท ในปี พ.ศ.2517 ได้มีผู้ลักลอบขุดหาวัตถุโบราณ ซึ่งได้ทำลายโบราณสถานไปเป็นอย่างมาก
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
ปราสาทอังกัญโพธิ์ จากคำบอกเล่ากล่าวว่า เดิมประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานที่ก่อด้วยศิลาแลง พื้นที่โดยรอบเป็นเนินดิน และมีร่องรอยคูน้ำล้อมรอบ ที่ตัวปราสาทมีหลุมลักลอบขุดเป็นจำนวนมาก พบเศษศิลาทราย ศิลาแลง และอิฐกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ
จากการสำรวจพบฐานประติมากรรมรูปเคารพ และบัวกลุ่มยอดปราสาท และเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบสีน้ำตาลแบบเครื่องถ้วยลพบุรีกระจายอยู่ทั่วไป
ความสำคัญของแหล่งทางประวัติศาสตร์โบราณคดี
ปราสาทอังกัญโพธิ์เป็นปราสาทขอม ปัจจุบันถูกลักลอบขุดรื้อทำลายไปเป็นอย่างมาก ไม่ปรากฏหลักฐานทับหลังหรือเสาประดับกรอบประตูสำหรับการศึกษากำหนดอายุสมัย แต่อย่างไรก็ตามปราสาทอังกัญโพธิ์ยังคงเป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงอิทธิพลวัฒนธรรมขอมที่ปรากฏขึ้นในดินแดนแถบนี้
ตำแหน่งที่ตั้ง
หมู่ 4 บ้านอังกัญโพธิ์ ตำบลโคกย่าง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์
การเดินทาง
จากตัวเมืองสุรินทร์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 214 (สุรินทร์-ปราสาท) เมื่อถึงบ้านรำเบอะ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 22 ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามทาง สร.3005 เป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร ถึงบ้านอังกัญโพธิ์ ให้เลี้ยวซ้าย (ทางไปบ้านสะเกียร์) ไปตามถนนบ้านอังกัญโพธิ์-บ้านโคกบุ ซึ่งเป็นถนนลูกรังประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวขวาตัดผ่านทุ่งนาตรงไปอีก 500 เมตร จะเห็น
เนินดินมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น เป็นที่ตั้งของปราสาทอังกัญโพธิ์ ปัจจุบันมีพระสงฆ์เข้าไปตั้งสำนักสงฆ์ที่บริเวณดังกล่าวด้วย
อ้างอิง : กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์, กรุงเทพฯ: กอง โบราณคดี กรม ศิลปากร, 2538.