ปราสาทศีขรภูมิ

ปราสาทศีขรภูมิ

ปราสาทศีขรภูมิ เป็นลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ เป็นปราสาทก่ออิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันโดยตัวฐานก่อด้วยศิลาแลงกว้าง 25 เมตร ยาว 26 เมตร สูง 1.5 เมตร โดยมีคูน้ำกว้าง 125 เมตร ล้อมรอบสามด้าน โดยเว้นด้านตะวันออกอันเป็นทางเข้าไว้

ปรางค์ประธานสูงประมาณ 32 เมตร ทับหลังเป็นภาพพระศิวนาฏราชสิบกร ทรงฟ้อนรำอยู่เหนือเกียรติมุขภายใต้วงโค้งลายท่อนมาลัย ซึ่งสลักเป็นภาพพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และพระอุมา โดยทับหลังชิ้นนี้นับเป็นทับหลังที่มีความสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของเมืองไทย บริเวณเสากรอบประตูสลักเป็นรูปนางอัปสราถือดอกบัว และทวารบาลยืนกุมกระบอง ซึ่งนางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมินี้มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่พบที่ปราสาทศิลปะเขมรโบราณแห่งใดอีกเลยในประเทศไทย นอกจากลวดลายสลักเสลาของทับหลังและเสาที่สวยงามแล้ว เครื่องประดับจำพวกกลีบขนุนก็สวยงามไม่แพ้กัน และสิ่งหนึ่งที่อยากให้สังเกตคือ อิฐแต่ละก้อนนั้นนอกจากมีขนาดไม่เท่ากันยังประสานกันเป็นเนื้อเดียวอีกด้วย นี้คือความอัจฉริยะของช่างสมัยโบราณโดยแท้

จากลักษณะทางศิลปกรรม สันนิษฐานว่าปราสาทศีขรภูมิน่าจะสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย และในพุทธศตวรรษที่ 22 มีการบูรณะเพิ่มเติมที่องค์ปราสาทแถวหลังฝั่งทิศใต้ เป็นแบบศิลปะล้านช้าง และยังมีจารึกอักษรธรรมปรากฏอยู่ ณ ปราสาทหลังนี้

ปราสาทศีขรภูมิถือเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอศีขรภูมิและจังหวัดสุรินทร์ โดยตราประจำจังหวัดสุรินทร์นั้นจะเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างอยู่ด้านหน้าปราสาทศีขรภูมิ

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีชาวอำเภอศีขรภูมิยังคงสืบสานประเพณีฉลองปราสาทศีขรภูมิมาอย่างต่อเนื่อง โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยยิ่งขึ้น บางปีมีการแสดงแสง สี เสียงประกอบ โดยใช้ชื่องานว่า “สืบสานตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ”

ที่ตั้ง

ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ 34 กิโลเมตร

การเดินทาง

ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 226 เส้นทางสายสุรินทร์-ศีขรภูมิ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 34-35 แล้วแยกซ้ายเข้าไปประมาณ 500 เมตร จึงจะถึงบริเวณองค์ปราสาทโดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปอีก 1 กิโลเมตร

อ้างอิง : กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์, กรุงเทพฯ: กอง โบราณคดี กรม ศิลปากร, 2538.