กลุ่มปราสาทตาเมือน

กลุ่มปราสาทตาเมือน

กลุ่มปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคันนาสามัคคีตําบลตาเมียง อําเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ตามรายทางสู่เมืองพระนครของขอม ในอดีตยังไม่มีความรู้ในเรื่องพรมแดนต่างประเทศ มีแต่เพียงแนวทิศเขาดงเร็กเป็นพรมแดนธรรมชาติที่กั้นผู้คนสองดินแดนไว้ คนโบราณมีการใช้เส้นทางผ่าช่องเขาที่มีอยู่ตลอดแนว ในบางช่องเขามีการสร้างปราสาทหินขนาดเล็ก เช่น ช่องไชตะกูมีปราสาทแบแบก แต่สําหรับที่ช่องตาเมือนหรือตาเมียงนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีปราสาทหินสามหลังอยู่ใกล้ๆ กัน เรียงลํา ดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก เรียกว่ากลุ่มปราสาทตาเมือน โดยปราสาทแต่ละหลังมีขนาดและประโยชน์ที่ใช้สอยแตกต่างกันไป

ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม ตัวปราสาทอยู่บนเนินเขาสร้างคร่อมโขดหินธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ในรูปของ สยัมภูศิวลึงค์ และเป็นที่สําหรับประกอบพิธีกรรม อยู่ใกล้ดินแดนเขมรมากที่สุดปราสาทแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศใต้ ผิดแผกจากแห่งอื่นซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คงจะรับกับเส้นทางที่มาจากเขมรตํ่าผ่านมาทางช่องทางตาเมือนนี้ ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งแปลตรงกับภาษาเขมรว่า ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอาคารอื่น คือปรางค์ก่อด้วยหินทรายสองหลัง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน บรรณาลัยศิลาแลงสองหลัง และนอกระเบียงคดทางทิศเหนือมีสระนํ้าขนาดเล็กสองสระ

เนื่องจากปราสาทแห่งนี้อยู่ใกล้เขตชายแดน การเที่ยวชมจึงควรอยู่เฉพาะภายในเขตปราสาทเท่านั้น ไม่ควรเดินออกไปไกลจากแนวต้นไม้รอบปราสาทเพราะพื้นที่นี้ยังไม่ปลอดภัยนัก

ปราสาทตาเมือนโต๊จอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธมประมาณ 750 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง มีกําแพงล้อมรอบและมีสระนํ้าขนาดเล็กอยู่ทางทิศเหนือหนึ่งสระ โดยเชื่อว่าปราสาทแห่งนี้เป็นอโรคยาศาล รักษาพยาบาลของชุมชนหรือตามรายทางที่เป็นเส้นทางคมนาคม ซึ่งนิยมสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ปราสาทตาเมือน (บายกรีม) อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊จ ประมาณ 390 เมตร เป็นปราสาทที่เล็กที่สุดก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะเป็นห้องยาว เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา คือที่พักสําหรับคนเดินทาง

กลุ่มปราสาทตาเมือนนี้นับได้ว่าเป็นกลุ่มปราสาทที่มีความสมบูรณ์ในด้านของการอํานวยประโยชน์แก่ผู้คนที่ใช้เส้นทางผ่านช่องเขา ซึ่งไม่ปรากฏในถิ่นอื่น การที่มีกลุ่มปราสาทตาเมือนตั้งอยู่ในบริเวณนี้เป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นว่า ในอดีตเส้นทางช่องเขาตาเมือนนี้คงจะมีชุมชนหรือเป็นเส้นทางผ่านช่องเขาสําคัญของภูมิภาค

 

อ้างอิง : กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์, กรุงเทพฯ: กอง โบราณคดี กรม ศิลปากร, 2538.