รอยพระพุทธบาท เขาศาลา
รอยพระพุทธบาท เขาศาลา
ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดเขาศาลาอุตลฐานะจาโร ห่างจากศาลาวัดไปด้านทิศ
ตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 300 เมตร รอยพระพุทธบาทสลักอยู่บนโขดหิน ใต้ร่มไม้ใหญ่ มีความสูงจากพื้นดินราว2 เมตร
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
เป็นรอยพระพุทธบาทหินทรายที่มีขนาดใหญ่ วางตําแหน่งตามแนวตะวันออก-ตะวันตก มีความยาว 3.2เมตร ความกว้างด้านส้นพระบาท 0.7 เมตร ด้านปลายพระบาท 1.5 เมตร แกะสลักให้ลึกลงไปประมาณ 20เซนติเมตร เป็นรอยพระบาทข้างขวา ภายในรอยพระบาทมีเส้นขอบนูนเป็นกรอบสลักรูปสัตว์ในธรรมชาติ ได้แก่สัตว์ใหญ่ สัตว์เล็ก สัตว์ปีก นก ปลา สัตว์เลื้อยคลานนานาชนิด รวมทั้งภาพดอกบัว ภาพทั้งหมดแบ่งออกเป็น 23 แถว นับจํานวนได้ 166 ภาพ กลางฝ่าพระบาทและส้นพระบาทสลักลายวงกลม 7 ชั้น ภายในแต่ละวงเป็นลาย2 แบบสลับกัน รอบๆ วงกลมเป็นภาพกลีบบัวหรือเศียรงูใหญ่ เช่นเดียวกับขอบรอบพระบาท ส่วนนิ้วมีลายก้นหอยประดับทั้งส่วนปลายนิ้วและข้อนิ้วเรียงตามรอยนิ้วตามขนาดของนิ้วแบ่งเป็นแนวนอน 3 แถว แนวตั้งตามนิ้ว 5 ลายรวมแล้วมีลายก้นหอยทั้งสิ้น 15 ลาย
ความสําคัญของแหล่งทางประวัติศาสตร์ โบราณ-คดี
ลวดลายกลีบบัวที่เส้นขอบรอบ และที่วงนอกสุดของ ลายดอกบัวในรอยพระพุทธบาทนั้นดูเป็นแบบศิลปะเขมรที่ค่อนข้างเก่า แต่การสลักลวดลายเฉพาะรูปสัตว์นานาชนิด เช่น แมงมุม ตั๊กแตน ผีเสื้อ นกเงือก นกยูง ปู ปลาดุก งู ฯลฯ และรูปพันธุ์พฤกษาคือไม้ใหญ่และกอบัว โดยไม่ปรากฏลายมงคลใดๆ เลยนั้น ไม่เคยปรากฏพบในศิลปะทวารวดี ศิลปะขอม หรือลพบุรีมาก่อน ทําให้ยังไม่อาจกําหนดอายุได้แน่ชัดนัก อาจเป็นรอยพระพุทธบาทแบบพื้นเมืองที่สร้างขึ้นตามคติความเชื่อที่สูญหายไปแล้วในปัจจุบันปัจจุบันพระพุทธบาท และบริเวณวัดเขาศาลาได้รับการ พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ โดยจัดตั้งเป็นพุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร สภาพแวดล้อมเป็นป่าและภูเขาล้อมรอบมีเนื้อที่ประมาณ 10,865 ไร่ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสมุนไพรหายาก รวมทั้งสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งกําเนิดต้นนํ้าลําธาร มีทัศนียภาพงดงามสภาพแวดล้อมเงียบสงบร่มเย็น เหมาะกับการศึกษาปฏิบัติธรรม และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ตําแหน่งที่ตั้ง
บ้านจรัส ตําบลจรัส อําเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์
การเดินทางเข้าถึงแหล่ง
ใช้ถนนสายสุรินทร์-อําเภอปราสาท เรื่อยมาจนถึงสี่แยก อําเภอปราสาท แล้วเลี้ยวซ้าย เข้าทางหลวงหมายเลข
24 ที่กิโลเมตรที่ 45 บริเวณสี่แยกอําเภอสังขะ เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย 2124 ผ่านอําเภอบัวเชดไปตามเส้นทาง
จนถึงบ้านจรัส กิโลเมตรที่ 23 ทางเข้าวัดจะอยู่ทางขวามือ
อ้างอิง : กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์, กรุงเทพฯ: กอง โบราณคดี กรม ศิลปากร, 2538.